Please support me!

หากชอบใจบทความของผม โปรดสนับสนุนค่ากาแฟเล็กๆน้อยๆเพื่อเป็นกำลังใจนะครับ

[INV031] แชร์วิธีจัดการบัญชีธนาคารเพื่อสร้างวินัยในการออมเงิน

เคยสงสัยกันไหมครับว่าเราควรมีบัญชีธนาคารกี่บัญชีดี?

เรื่องนี้คงจะไม่มีสูตรตายตัว ส่วนมากเรามักจะเปิดบัญชีใหม่เมื่อถึงวาระหรือเหตุการณ์บางอย่างที่จำเป็น
รู้ตัวอีกที มานั่งนับดู เราอาจมีแทบจะครบทุกธนาคารไปเสียแล้วก็เป็นได้
และเอาเข้าจริง บัญชีที่ active อยู่อาจจะมีแค่ 2-3 บัญชีเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันไปตาม lifestyle และภาระหน้าที่ของแต่ละคน

วันนี้ผมอยากจะลองแชร์วิธีจัดการบัญชีธนาคารของผม ซึ่งจากที่ลองทำแล้วพบว่ารู้สึกง่ายในการจัดการหรือวางแผนการเงิน และมีวินัยในการออมเงินได้ดีขึ้นครับ


...

สำหรับวิธีของผม จะใช้บัญชีธนาคารแบ่งเป็น 6 บัญชี ตามวัตถุประสงค์ดังนี้

1. บัญชีรับเงินเดือน
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสเงินสดที่เข้ามาหาเรา ไม่ว่าจะเป็นบัญชีของธนาคารไหนก็ตาม ขอให้แน่ใจว่าคุณสามารถทำรายการโอนเงินออกไปบัญชีอื่นได้บ่อยๆโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เพราะทุกการใช้จ่ายนั้นไม่ควรที่จะเกิดขึ้นจากบัญชีนี้ครับ

คำแนะนำเพิ่มเติม: หากใช้แอพมือถือของธนาคารในการจัดการบัญชี หลายๆแอพมักจะมี feature ให้เราสามารถตั้งการทำรายการล่วงหน้าแบบประจำได้ (Recurring Transaction) ซึ่งแนะนำให้ตั้งไว้ทุกเดือน จะช่วยให้เราไม่ลืมที่จะโอนเงินออกไปสู่บัญชีอื่นๆตามที่วางแผนไว้

2. บัญชีเงินออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
บัญชีนี้มีไว้เพื่อจุดประสงค์ของการใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ซึ่งครอบคลุมถึงเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น อุบัติเหตุที่ทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานหารายได้ การถูกเลิกจ้างงาน หรือค่ารักษาพยาบาลที่ราคาสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ บัญชีนี้จึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆที่จะต้องมีเงินสำรองไว้ให้เพียงพออยู่ตลอดเวลา

คำแนะนำเพิ่มเติม: ควรสำรองเงินในบัญชีนี้ให้ได้ประมาณ 6-12 เดือนของค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และไม่ควรถอนเงินจากบัญชีนี้มาใช้จ่ายสำหรับสิ่งที่ไม่จำเป็น ลองมองหาบัญชีออมทรัพย์ออนไลน์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ปกติในการเก็บเงินส่วนนี้ เนื่องจากเป็นบัญชีที่เราไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนัก

3. บัญชีสำหรับเงินลงทุน
หลายคนที่ไม่ได้เริ่มลงทุนเสียทีเพราะจะมีข้ออ้างว่า แค่จ่ายหนี้และใช้จ่ายทั่วไปก็ไม่เหลือเงินจะมาลงทุนแล้ว อันที่จริงแล้วเงินสำหรับลงทุนนั้นควรจะอยู่อันดับต้นๆในการแบ่งส่วนตั้งแต่การมีรายได้เข้ามา
การลงทุนนั้นสำคัญมากและต้องใช้เวลา เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ที่เราหวังผลของมันอีกหลายสิบปีในอนาคต สิ่งนี้จะช่วยให้เราไม่ต้องลำบากเมื่อเราแก่ตัวลง เพราะความสามารถในการหารายได้เริ่มลดลงและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและภาระมากขึ้น

ไม่ได้มีใครกำหนดไว้ว่าคุณจะต้องมีเงินหลักพัน หลักหมื่น หรือหลักแสนถึงจะเริ่มลงทุนได้ ปัจจุบันนี้ มีเงินร้อยเดียวก็เริ่มลงทุนได้แล้ว คุณอาจเริ่มต้นง่ายๆจาก 5-10% ของเงินเดือน หัวใจสำคัญคือ คุณจะต้องมีวินัยในการแบ่งเงินไปลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ผมแนะนำให้ใช้วิธีสร้างแผนการลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) และลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะกับความเสี่ยงของตัวเอง

คำแนะนำเพิ่มเติม: ส่วนตัวผมจะไม่เก็บเงินส่วนลงทุนเอาไว้ในบัญชีธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นแบบออมทรัพย์หรือแบบฝากประจำ เนื่องจากผลตอบแทนนั้นต่ำมากและไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ แนะนำให้เก็บไว้ในบัญชีกองทุนตลาดเงินที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ หรือกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง ซึ่งกองทุนเหล่านี้มีความเสี่ยงต่ำ แม้จะไม่ต่ำเท่ากับเงินฝากธนาคาร แต่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากธนาคาร เหมาะกับเป็นที่พักเงินรอโอกาสก่อนที่จะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น

และสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นหรือกองทุน ก็แนะนำให้ใช้บัญชีนี้ในการรับเงินเช่นกัน เพื่อที่เราจะได้วางแผนนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเพิ่มและสร้างโอกาสเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง 

4. บัญชีใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ลองเขียนออกมาดูว่าแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายที่คงที่ในแต่ละเดือน เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเช่า อินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ น้ำ ไฟ ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง พอเราเห็นประเภทรายการทั้งหมดและจำนวนตัวเลขแล้ว ก็ให้ลองตั้งงบประมาณ (budget) ของแต่ละหมวดการใช้จ่ายดู และโอนเงินเท่าที่ต้องใช้เข้ามาเพื่อใช้จ่ายผ่านบัญชีนี้เท่านั้น

คำแนะนำเพิ่มเติม: ก่อนการจัดการบัญชีนี้ สำหรับใครที่ยังไม่เคยทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ขอให้เริ่มก่อน เพราะคือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรารู้ว่าปัจจุบันเรามีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องอะไรบ้าง อะไรที่จำเป็นแต่ลดไม่ได้ อะไรที่จำเป็นแต่ลดได้ หรืออะไรที่ไม่จำเป็นตัดได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนสร้างวินัยการออมเงิน

5. จ่ายบัตรเครดิต
ความสำคัญของการแยกบัญชีเพื่อจ่ายบัตรเครดิตออกจากบัญชีค่าใช้จ่ายทั่วไป คือเรื่องของความมีวินัยในการชำระหนี้ ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคือสิ่งที่โหดร้ายมากครับ ดังนั้น อย่าพลาดที่จะจ่ายให้ครบเต็มจำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยเด็ดขาด
วิธีการใช้บัญชีนี้คือ ทุกครั้งที่มีการรูดใช้จ่าย ให้โอนเงินจากบัญชีที่ 4 (บัญชีใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน) มาที่บัญชีนี้ทันที และเมื่อถึงงวดการชำระก็ให้จ่ายออกไปจากบัญชีนี้ครับ

คำแนะนำเพิ่มเติม: หากเป็นคนที่วางแผนการใช้จ่ายมาดีแล้ว การถือบัตรเครดิตหลายๆใบนั้นมีประโยชน์มากในแง่ของการแบ่งหมวดค่าใช้จ่ายให้ได้ cashback หรือส่วนลดมากที่สุด ลองหาข้อมูลและเปรียบเทียบจุดเด่นของแต่ละบัตร และไม่ควรจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ถ้ามีก็ควรจะขอ waive ได้

6. เก็บเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้น
หากมีเป้าหมายในการเก็บเงินก้อน เช่น ซื้อรถ ซื้อของที่อยากได้ หรือทริปเที่ยงต่างประเทศ ควรจะแยกมาใส่ในบัญชีนี้ เพื่อไม่ให้ถูกรบกวนจากการถูกดึงออกไปใช้และทำให้เราสามารถติดตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

คำแนะนำเพิ่มเติม: สำหรับเป้าหมายในการเก็บเงินระยะยาวตั้งแต่ 5-10 ปีขึ้นไป เช่น เก็บเงินซื้อบ้าน เก็บเงินให้ลูก หรือเก็บเงินเตรียมเกษียณ แนะนำให้จัดพอร์ตการลงทุนในกองทุนรวมแบบ dca เพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในระดับความเสี่ยงที่เรารับได้  

...

สำหรับข้อควรระวังอื่นๆเกี่ยวกับการใช้บัญชีธนาคาร ขอให้พิจารณาเรื่องค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน เงื่อนไขหรือสภาพคล่องในการถอนเงิน ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าบัตร atm หรือบัตรเดบิตรายปี (ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เดี๋ยวนี้ถอนผ่านแอพโดยไม่ต้องใช้บัตรได้หลายธนาคารแล้ว) ค่ารักษาบัญชีหากบัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว 

ส่วนใครที่กำลังมองหาจุดเริ่มต้นในการลงทุน หากสนใจเปิดบัญชีกองทุนรวมแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม FINNOMENA

- เปิดบัญชีฟรี!

- เพียงเปิดบัญชีเดียวสามารถลงทุนกับกองทุนรวมผลตอบแทนดีเด่นได้ทุก บลจ. ไม่ต้องเปิดหลายบัญชีให้ยุ่งยาก

- มีบริการแจ้งคำแนะนำในการปรับพอร์ต รวมถึงสามารถสร้างแผนการลงทุนได้หลากหลายที่เหมาะกับเป้าหมายของคุณ  
 สามารถกรอกฟอร์มที่หน้านี้ แล้วผมจะติดต่อกลับเพื่ออธิบายขั้นตอนและรายละเอียดให้ครับ 

หากใครมีวิธีจัดการบัญชีธนาคารหรือวิธีวางแผนการใช้จ่ายที่น่าสนใจ ลองแชร์กันมาดูนะครับ
ผมเชื่อว่าสไตล์การใช้ชีวิตและประสบการณ์ที่ต่างกัน ทำให้เราได้มุมมองที่หลากหลายมากขึ้น และเป็นโอกาสให้เรานำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคลได้ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

[MUS001] Kazoo...เครื่องดนตรีที่ใครๆก็เล่นได้!

[OTH004] มาเล่นแฟลกฟุตบอลกันเถอะ!

[INV033] รีวิว 6 เดือน กับการเป็น FA ที่ Finnomena

[IT006] How to convert UTF-8 to ANSI ? (Thai fonts)

[INV023] วิธีใช้ไฟล์ excel ประเมินมูลค่าหุ้นคร่าวๆจากงบการเงิน