Please support me!

หากชอบใจบทความของผม โปรดสนับสนุนค่ากาแฟเพื่อเป็นกำลังใจนะครับ คลิกที่นี่

[INV018] Information Overload กับการลงทุน

เราต่างตระหนักดีว่า หัวใจสำคัญของการเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าคือการติดตามข่าวสารที่อยู่รอบตัวอย่างสม่ำเสมอ นักลงทุนยุคก่อนๆต้องทำการบ้านกันหนักมาก อ่านหนังสือพิมพ์วันละหลายฉบับ โทรไปสอบถามข้อมูลจาก IR บ่อยๆ (สมัยที่ยังไม่มีอีเมล์และโทรศัพท์มือถือ) เข้าห้องสมุดเพื่อที่จะไปถ่ายเอกสารรายงานประจำปี ตลอดจนการไปนั่งจดราคาย้อนหลังของหุ้นทีละตัว เรียกได้ว่าแทบจะต้องทุ่มเวลาหมดไปเกือบทั้งวันกับการศึกษาหุ้น

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารถูกส่งหากันง่ายขึ้นจากการพัฒนาที่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต...น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายย่อยแบบก้าวกระโดด และผมคิดว่าความนิยมของการเป็นนักลงทุนสไตล์เน้นคุณค่าก็มากขึ้นเพราะอินเตอร์เน็ตเช่นกัน เมื่อกำแพงของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเริ่มลดต่ำลง อุปสรรคด้านความต่างของเวลาและระยะทางก็เริ่มจะหมดไป ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะก็ลดลงเช่นกัน สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนรายย่อยใช้เวลาในการวิเคราะห์หุ้นได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อีกอย่างที่ส่งผลกระทบยิ่งขึ้นไปกว่าอินเตอร์เน็ต คืออุปกรณ์พกพา (mobile device) จากก่อนหน้านี้ที่คนต้องเข้าหาอินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูล แต่ทุกวันนี้ข้อมูลเป็นฝ่ายวิ่งมาหาคนแทน (ผ่าน push notification) ยิ่งทำให้การรับรู้ข่าวสารนั้น รวดเร็วขึ้นไปอีกจนแทบจะไม่มีความแตกต่างเรื่องเวลา

เมื่อช่องทางการเชื่อมต่อถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว รูปแบบของ content ก็มีการพัฒนาตามมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทั้งเสียง ข้อความ คลิปวีดีโอ อินโฟกราฟฟิค ทุกอย่างถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองกับคนจำนวนมาก ข้อมูลที่มีมากขึ้น และพฤติกรรมการเสพข้อมูลที่เปลี่ยนไปของผู้คน

...

ลองย้อนกลับมาพิจารณาดูว่า ทุกวันนี้นักลงทุนรายย่อยได้รับทราบข่าวมากมายขนาดไหนในแต่ละช่องทางในแต่ละวัน?

นอกจากช่องทางโดยตรงแล้ว ซ้ำยังมี social media และโปรแกรมแชทต่างๆ ยิ่งโหมกระหน่ำให้ข้อมูลถูกแพร่กระจายไปพร้อมนานาทัศนะของผู้คนผสมโรงกันเข้าไปอีก ผมกำลังจะบอกว่าภาวะ "Information Overload" นั้นอาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือเราอาจรู้ตัวแต่เราก็ชินชากับการรูดหน้าจอในโทรศัพท์ขึ้นไปเรื่อยๆ กดลบข้อความไปเรื่อยๆ โดยที่สมองเราก็ยังคงรับรู้กับข้อมูลจำนวนมากเกินไปโดยไม่สนใจว่าจะมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจหรือการลงทุนของเราหรือไม่

สิ่งที่น่ากลัวคือ เมื่อเราเสพติดกับการต้องรู้ข้อมูลทุกๆอย่าง เพราะคิดว่าเราจะได้เปรียบคนอื่น หรือเพราะคิดว่าเราจะนำมาใช้ประโยชน์หรือฉวยโอกาสในการลงทุนได้ แล้วมันก็ลามไปถึงการลงมืออย่างทันทีทันใด เพราะเชื่อว่าข้อมูลนั้นจะส่งผลบวกหรือผลลบได้อย่างสุดโต่ง ตัวอย่างเช่น การเข้ามาของทีวีดิจิตอล การเข้ามาของนโยบายรถคันแรก หรือการเข้ามาของธุรกิจพลังงานทดแทน นักลงทุนมักให้น้ำหนักกับสิ่งใหม่ๆว่ามันต้องได้ผลที่ดีแบบก้าวกระโดดเสมอไป โดยบางครั้งอาจไม่ผ่านการคิดวิเคราะห์ให้รอบด้าน มันทำให้รู้สึกว่าต้องได้ลงมือซื้อหรือขายอะไรสักอย่าง เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่นั้น (และตอบสนองอารมณ์ของตนเองด้วย) จึงไม่แปลกที่หลายครั้งเราจะเห็นราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปรอ...

และนั่นคือการรอ "อนาคต"
...และนั่นอาจเป็นอนาคตที่เกิดขึ้นจริง (แต่ราคาก็อาจเกินมูลค่าที่เหมาะสมไปมากแล้ว)
...และหากนั่นคืออนาคตที่ไม่เกิดขึ้นจริงล่ะ?

ผมไม่ได้กำลังจะบอกให้เราต้องเมินเฉยภาพในอนาคต หรือต้องปัดเทรนด์ที่มีโอกาสใหม่ๆออกจากตัวให้หมดเพื่อความปลอดภัย
แต่ผมกำลังจะหมายถึง "การสร้างภูมิคุ้มกัน" ให้เราสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากข่าวสาร(ทั้งจริงและบิดเบือน)ที่ถาโถมเข้ามาหาเราในทุกๆวัน กล่าวคือ "ให้เราเป็นคนใช้ประโยชน์จากข่าวสาร แต่อย่าตกเป็นเหยื่อของการรับรู้ข่าวสาร"

สำหรับตัวผมเอง หลายครั้งการเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย กลับให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ และหลายครั้งที่ Information Overload ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดหรือไม่แม่นยำอย่างที่เคยเป็น
อีกเหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะสไตล์การลงทุนของผม ผมยึดถือวิถีที่ทำให้เราสบายใจเป็นหลัก สนุกกับการเรียนรู้ และไม่จำเป็นต้องรีบรวย

ผมตระหนักดีว่า ในชีวิตผมยังต้องการเวลาไปทำอะไรอีกมากมายนอกเหนือจากการหาเงินและการลงทุน และผมคงไม่ใช้เวลาหมดไปกับการติดตามความเคลื่อนไหวจำนวนมหาศาลบนหน้าจอได้ตลอดเวลา
ผมรู้สึกโชคดีที่ถูกสอนและเน้นย้ำจากอาจารย์หลายๆท่านว่า "อย่ายึดติดกับการวัดผลสำเร็จเพียงด้านเดียว" (โดยเฉพาะเรื่องเงินหรือตัวเลข)

การหาจุดที่เหมาะสมกับตัวเองให้เจอ และความมีวินัยในการลงทุน จึงเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากกว่า ซึ่งผมเชื่อว่าจะนำพาไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนได้.

ampmie152.
http://ampmie152.blogspot.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

[INV033] รีวิว 6 เดือน กับการเป็น FA ที่ Finnomena

[INV023] วิธีใช้ไฟล์ excel ประเมินมูลค่าหุ้นคร่าวๆจากงบการเงิน

[IT006] How to convert UTF-8 to ANSI ? (Thai fonts)

[MUS001] Kazoo...เครื่องดนตรีที่ใครๆก็เล่นได้!

[OTH004] มาเล่นแฟลกฟุตบอลกันเถอะ!